27 มิถุนายน 2547

อ่านหนังสือแตก (The Reader)

ในโลกยุคปัจจุบัน "การอ่านหนังสือออก" ไม่ได้มีความหมายเพียงรู้อักขรวิธีพอจะอ่านออกมาเป็นคำได้
แต่หมายถึงกระบวนการคิดและทำความเข้าใจ
เชื่อมโยงความเข้าหากัน แยกแยะระดับความน่าเชื่อถือของข้อมูลต่างๆ
รวมไปถึงนำเอาความรู้ความเข้าใจที่ได้มาจากการอ่านเข้าไปเชื่อมต่อกับความรู้ความเข้าใจที่มีมาก่อน

แม้ในโลกยุคอดีต ทักษะอย่างนี้ก็มีความจำเป็น เพียงแต่ว่าในอดีตเราอาจได้ความรู้และข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ
ที่ไม่ใช่ตัวหนังสือมากกว่า ในขณะที่โลกยุคอดีตเน้นการทำความเข้าใจความรู้ที่มีลักษณะค่อนข้างสถิตย์
แตกต่างจากโลกปัจจุบันที่เน้นการมองหาช่องทางใหม่ๆ, ความสัมพันธ์ใหม่ๆ, บทสรุปใหม่ๆ จึงทำให้ความจำเป็นในการ
"อ่านหนังสือออก" ตามความหมายนี้เข้มข้นขึ้น

ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจใช่ไหมครับที่เขาพบว่า มีคนไทยในหมู่ผู้ถูกสำรวจเพียง 1%
เท่านั้นที่มีทักษะการอ่านระดับที่จะอ่านข้อเขียนที่มีความซับซ้อนได้ ที่ไม่น่าแปลกใจก็เพราะ เราทุกคนคงรู้สึกเหมือนกันว่า
การศึกษาในโรงเรียนของเราเอง (ไปจนถึงมหาวิทยาลัยก็ว่าได้) สอนการอ่านเพียงแค่อ่านได้ด้วยอักขรวิธี
ไม่ใช่ทักษะการอ่านที่เป็นกระบวนการคิดที่ซับซ้อน

ฉะนั้น คนไทย (พูดถึงแต่คนไทยเพราะเขียนให้คนไทยอ่าน ไม่ได้จะบอกว่าคนไทยเท่านั้น) จึงชอบอ่านอะไรง่ายๆ แค่บอกให้รู้ว่า
"อะไรเป็นอะไร" มากกว่าที่จะเรียนรู้กระบวนการคิดที่จะนำไปสู่ข้อสรุปนั้นๆ
ข้อสอบจากชั้นประถมถึงมหาวิทยาลัยนิยมถามว่าอะไรเป็นอะไรมากกว่ากระบวนการคิด
แค่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็อาจเป็นเศรษฐีได้ เพราะตอบคำถามใน "เกมเศรษฐี" ได้หมด

ในขณะที่ปัจจุบัน ทั้งรัฐและสังคมกำลังส่งเสริมการอ่าน แต่ความสามารถในการอ่านของคนไทยกลับมีจำกัด
ถึงจะอ่านมากขึ้นก็อาจจะยัง "อ่านไม่ออก" เหมือนเดิม นอกจากนี้การอ่านเป็นสิ่งไม่น่าอภิรมย์เลย
ถ้าการอ่านเป็นเพียงสื่อให้เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไรเท่านั้น ก็ไม่รู้ว่าจะรู้ไปทำไมมากมายนัก

ในเมื่อไม่ได้คิดจะไปชิงรางวัลของเกมทีวี จำไปก็ไม่หวาดไม่ไหว ซ้ำอ่านไปก็เครียด
บางคนมีดินสอสีคอยขีดข้อความให้หนังสือเลอะเทอะด้วย ตรงกันข้ามนะครับ
การอ่านที่รับทั้งความหมายและนัยยะของความหมายที่สลับซับซ้อนไปด้วย สร้างกระบวนการความเข้าใจ
และคิดสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง "ทำให้สมองตื่นตัว" สารความสุขหลั่งไหล
แทนที่จะทำให้เครียดกลับเกิดความเพลิดเพลินในการอ่าน

ผมเชื่อว่าตราบเท่าที่เรายัง "อ่าน" ไม่เป็น คืออ่านเพียงเพื่อจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรอยู่แค่นั้น
การปลูกฝังให้คนไทยรักการอ่านก็เกิดขึ้นได้ยาก อ่านก็อ่านกันอย่างเครียดๆ อย่างนี้
เด็กไทยยังอุตส่าห์อ่านได้วันละครึ่งชั่วโมงก็นับว่าน่านับถือมาก ไม่ใช่แค่อ่านมากอ่านน้อยเท่านั้นนะครับ
แต่ผมคิดว่าการอ่านในโลกปัจจุบันเป็นช่องทางของความรู้มากที่สุดมากกว่าการพูดให้ฟังในชั้นเรียนหรือทีวีหรือตลาดมากนัก

แต่ไม่ใช่อ่านเฉยๆ หากต้องหมายถึง "การอ่านเป็น"
หรือสามารถสร้างกระบวนการคิดและความเข้าใจของตนเองในการอ่านสิ่งที่สลับซับซ้อนได้ด้วย

ความรู้ที่การอ่านจะเป็นสื่อไปถึงได้นั้น ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงอะไรที่เกี่ยวกับสังคม, วัฒนธรรมและศิลปะเท่านั้น
ความสามารถที่จะสร้างกระบวนการคิดและความเข้าใจในการอ่านนั้นสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วย
ไม่ใช่เพียงรู้ข้อเท็จจริงในทางวิทยาศาสตร์นะครับ
แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือการอ่านเป็นนั้นฝึกสมองให้รู้จักมองหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่มีความสลับซับซ้อนได้

แล้วเอาเข้าจริง วิชาความรู้ต่างๆ รวมทั้งวิทยาศาสตร์ด้วยนั้นคืออะไรเล่า
ถ้าไม่ใช่การมองเห็นความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนของตัวแปรต่างๆ

วิทยาศาสตร์ไม่ใช่การท่องสูตรเพื่อเอาไปแก้โจทย์ต่างๆ
แต่คือการมองเห็นความสัมพันธ์ของตัวแปรที่สูตรแต่ละอย่างจำลองขึ้นไว้เป็นสัญลักษณ์
เอาแต่จำสูตรโดยเข้าไม่ถึงความสัมพันธ์ที่ตัวสูตรจำลองไว้ ก็เป็นแค่เทคนิค "เหมือนที่ช่างบัดกรีต้องเรียนรู้เทคนิค" เท่านั้น

แต่ผมสงสัยว่าในกรณีของไทยนั้น อาจจะอยู่ที่ทัศนคติของเราที่มีต่อความรู้มากกว่า
จึงทำให้เราสอนการอ่านหรือส่งเสริมการอ่านกันอย่างแคบๆ เพียงแค่การรับรู้ข้อมูลว่าอะไรเป็นอะไรเท่านั้น

จากบทความของ อาจารย์ นิธิ ผมอยากจะบอกว่า

" ทุกวันนี้เราอ่านหนังสือกันเป็นแล้วหรือยัง ถ้าพวกเราลองคิดดูว่าถ้าการอ่านหนังสือแล้วเกิดความเครียดจริง แล้วพวกหนอนอ่านหนังสืออยู่เป็นประจำ เค้าไม่เป็นโรคเครียดตายกันไปหมดแล้วรือ แต่สิ่งที่อยากให้ทุกคนรู้คือ ความสุขที่ได้จากการอ่านหนังสือนั้น ย่อมไม่ต่างกับแรงกระตุ้นจากยาเสพติดหรืออาหารอร่อยๆ

เพียงแค่ทุกค นได้สลัดทิ้งความรู้สึกที่คิดว่าเครียดแต่ลองคิดดูสิว่ามันเป็น การทำเพื่อตัวเองทั้งสิ้น ใครก็ไม่สามารถรับประโยชน์นี้ไปได้เท่ากับตัวเอง ทุกวันนี้การที่เราไม่รู้สึกสนุกกับมันก็เพราะเราคิดอยู่แค่จะอ่านไปเพื่อสอ บหรือจะหวังผลอะไรก็ตามที่คิดว่าเป็นหน้าที่แล้วนั้น ทำยังไงก็ไม่มีทางสนุกแน่นอน ซ้ำร้ายอ่านไปแล้วยังไม่เข้าใจอีกด้วย ก็ยิ่งจะทำให้เบื่อมากขึ้นเท่านั้น

ดังนั้นถ้าเราลองมาเปรียบเทียบกั บการทำงาน เราก็จะเห็นว่าไม่ต่างกัน เราจะทำงานตามใบสั่งซึ่งบางงานอ่านจะน่าเบื่อบ้างแต่แล้วเราจะเอาแค่นั้นรึป ่าว ถ้าเอาแค่นั้นตามหน้าที่ ก็ต้องเบื่อแน่นอน มันไม่ได้ต่างกันเลย เพราะฉะนั้นเราลองคิดว่ารู้ลึกลงไปจากที่เค้าสั่งอีกจะดีกว่าหรือไม่ ยังไงเสียความสุขจากการศึกษาหาความรู้จะต้องตามมาแน่นอน เว้นเสียจากว่าเราจะไปสนใจเรื่องอื่นก็ห้ามกันตามความชอบของแต่ละบุคคลไม่ ได้ แต่ต้องลองถามตัวเองดูว่าความชอบที่เราจะทำอะไรตามใจเรานั้นๆ ได้ประโยชน์หรือไม่ ไม่ว่าจะกับตัวเองหรือกับคนรอบข้าง

อยากให้ทุกคน คิดกันให้ได้มากๆ ว่าวิชาความรู้ใครก็มาเอาของเราไปไม่ได้ ถ้าได้ก็อาจจะแค่ผลพลอยได้ ผลประโยชน์จะตกอยู่ที่เราเพียงคนเดียวเท่านั้นเต็มๆ ส่วนประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับก็เป็นแค่ผลพลอยได้ที่ได้จากตัวเราเท่านั้นเอ ง

จงอย่าได้คิดว่าเราทำเพื่อบริษัทขนาดนี้ เราจะทำไปเพื่ออะไรผลตอบแทนก็ไม่ได้ ถ้าคิดได้แค่นี้ก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าไม่อย่างนั้นหาสามีรวยๆ แล้วแต่งงาน จับจ่ายใช้สอยหาความสุขจากเงินที่สามีหามาแล้วอยู่เฉยๆ น่าจะสบายใจกว่าครับ" :)

เขียนให้อ่านสำหรับ Newsletter ภายในบริษัท จำไม่ได้ว่าเขียนไว้เมื่อไร
MrsJan

ไม่มีความคิดเห็น: