26 กุมภาพันธ์ 2549

"จะไปดูงานกันที่ไหนดี" ครั้งที่ 1 (Inspect Activities 1)

จุดมุ่งหมายที่คิดจะไปดูตอนแรกนั้น ผมหมายตา ลุงยงค์ นายประยงค์ รณรงศ์ จ.นครศรีธรรมราช (รางวัลแมกไซไซปี 48) อ่านจากงานเขียนของ เสรี พงพิศ แล้วชอบมาก ถ้ามีโอกาสกลับบ้านจะไปให้ได้สักครั้ง 1

หลังจากไปงานเปิดตำนานลุ่มน้ำโขงแล้ว ผมได้อ่านเอกสารแจกฟรี เป็นหนังสือพิมพ์ ข่าวชุมชน มีการแนะนำสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง จึงอยากจะบันทึกเอาไว้

เริ่มจากที่แรก "สวนโบราณป้าละมาย : ศูนย์รวมเครื่องแกงประจำชุมชน" ความว่า สวนโบราณของป้าละมาย สุขใย หญิงชราวัย 68 ปี บ้านปากโทก หมู่ 4 ต.จอมทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก เดิมเป็นเพียงชาวสวนธรรมดาๆ ที่ปลูกผักไว้กินเอง แต่เวลาผ่านไปสวนป้าละมายได้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรดั้งเดิมที่ได้รวบรว มพืชพื้นบ้านนานาชนิดเอาไว้ซึ่งมีความสำคัญทั้งในด้านการใช้ประโยชน์และการ อนุรักษ์ สวนแห่งนี้ได้สร้างรายได้ให้แก่เจ้าของสวนตลอดปี รวมไปถึงคนในชุมชนที่สามารถเข้ามาเก็บเพื่อนำไปทำอาหารรับประทานภายใน ครอบครัว จนได้รับฉายาว่า "ศูนย์เครื่องแกงประจำชุมชน"

"เดิมทีป้าปลูกไว้กินเอง หากเหลือก็ขาย ปลูกมาเรื่อยๆ ไม่ได้ปลูกพร้อมกัน ปลูกเสร็จก็ปล่อยมันไปตามธรรมชาติ คอยให้ปุ๋ยรดน้ำเป็นครั้งคราว พอผ่านไปหลายปี ต้นไม้ที่ปลูกไว้ก็พากันเติบใหญ่ร่มรื่นและได้ผลอย่างที่เห็น" ป้าเล่าต่อว่า ตนเองมีเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ เริ่มปลูกพืชผลไม่ต่างๆ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ปลูกทิ้งไว้ต้นไหนตายก็ปลูกทดแทน แต่จะไม่ทำลายทิ้งโดยพืชที่ปลูกก็มีทั้งไม้ผล เช่น มะปราง มะไฟ กระท้อน ขนุน มะม่วง มะพร้าว น้อยหน้า มะยม มะขวิดและมะกรูด พืชเศรษฐกิจ เช่น มัน อ้อย กระชาย ข่า ใบชะพลู เผือก พริก มะเขือ ตะไคร้ ถั่วพลู กะเพรา เป็นต้น พืชสมุนไพร เช่น ต้นสลอด บัวบก ว่านสาวหลง เสลดพังพอน ว่านพญาม้า เป็นต้น ไม้ใช้ประโยชน์ เช่น ไม้ประดู่ ยางนา สัก จามจุรี ไผ่ เป็นต้น ซึ่งให้ผลผลิตได้ทั้งปี ทำให้มีอยู่กิน โดยไม่ต้องเดือดร้อน

จากชาวบ้านธรรมดาๆ ได้กลายเป็น "ปราชญ์ชาวบ้าน" คนสำคัญ ที่สั่งสม "ภูมิปัญญาท้องถิ่นเอาไว้มากมาย" สามารถเป็นต้นแบบให้กับคนสนใจทางด้านนี้ได้อย่างดีทีเดียว

26 ก.พ. 2549
MrsJan

ไม่มีความคิดเห็น: